บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ
บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ
“บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ” หรือ “Tobacco Break Heart” เป็นคำขวัญประจำ วันงดสูบบุหรี่โลก 2561
องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ “ป้องกันได้” ด้วยเหตุนี้จึงกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) นอกจากจะมีการกำหนดคำขวัญในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในแต่ละปีแล้ว ยังมีการผลักดันมาตรการณ์ต่างๆ ออกมา เพื่อช่วยลดจำนวนผู้สูบลงอีกด้วย เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก บุหรี่
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าบุหรี่นั้น มีผลเสียต่อสุขภาพมากมาย ทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง หอบ เหนื่อย แน่นหน้าอก ไอเรื้อรัง ทำให้เกิดมะเร็งในปอดง่าย รวมถึงทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ เช่น มะเร็งของหลอดอาหารด้วย ซึ่งมองผิวเผินแล้วเหมือนว่าโรคต่างๆ จะอยู่แถวๆ ทางเดินของควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินอาหารและทางเดินลมหายใจ จะแล้วบุหรี่จะเกี่ยวกับหัวใจได้อย่างไร
โรคหัวใจ หรือ โรคระบบหลอดเลือด ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ มาจากสารนิโคตินและก็าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่พิสูจน์ได้ในสัตว์ทดลอง ส่วนสารอื่นๆ ในควันบุหรี่ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุร่วมก็คือ สารแคดเมี่ยม ไนตริคออกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ คาร์บอนไดซัลไฟด์ นิโคติน เป็นสารเสพติด สารที่ทำให้คนติดบุหรี่ และเมื่อดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะมีผลโดยตรงต่อสมองและต่อมหมวกไต ทำให้มีการหลั่งสาร นอร์อดรีนาลิน โดปามิน ชีโรโทนินิ ออกมา เกิดปฏิกิริยาขึ้นหลายอย่าง มีการกด-กล่อมประสาท ความดันเลือดสูงขึ้น ทำใจเต้นเร็วขึ้น เส้นเลือดแดงหดตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ ลิ้นของหัวใจมีการตีบตันจากลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดไปจับตัวกันหนาขึ้น ขยายผนังด้านในทำให้ระบบไหลเวียนไม่เป็นไปตามปกติ ส่วนคาร์บอนมอนนอกไซด์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว และไปแย่งที่ออกซิเจนในการจับกับเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจมีโอกาสเกิดหัวใจวายเฉียบพลันได้ด้วย
จากรายงานการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในกลุ่มผู้สูบหรี่จะมีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคความดันเลือดสูงหรือมีไขมันในเลือดสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึง 1.5 เท่า แต่หากผู้สูบบุหรี่นั้นเป็นทั้งความดันเลือดสูงและไขมันในเลือดจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 8 เท่าของคนทั่วไป ผู้ติดบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดเสื่อมและเกิดความตีบตันเร็วมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10-15 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า ในสตรีบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิด จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าสตรีทั่วไปถึงเกือบ 40 เท่า
องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นผลจากการสูบบุหรี่ จึงเป็นที่มาของคำขวัญ “บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ” หรือ “Tobacco Break Heart” ในปีนี้
มาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่ยังไม่สูบก็อย่าเริ่มลองเลย ส่วนใครที่สูบบุหรี่อยู่ แล้วอยากเลิก สามารถขอคำแนะนำได้ใน ร.พ. ของรัฐทุกแห่ง ที่สำคัญต้องพกความตั้งใจแน่วแน่มาให้เต็มเปี่ยม รับรองว่าเลิกได้อย่างแน่นอน เพื่อหัวใจที่จะกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง