Interview

ปุญชนิกา ช่วยนุกิจ

ปุญชนิกา ช่วยนุกิจ
Chief Producer Of Program Bureau
หัวหน้าโปรดิวเซอร์ Thai PBS

“เด็กทุกคนต่างมีความฝันว่า เติบโตขึ้นจะประกอบอาชีพอะไร เรามีธงที่แตกต่างจากเด็กผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่มักจะเลือกอาชีพครูหรือพยาบาล ด้วยความภาคภูมิใจในตัวพ่อ จึงมีความฝันอันดับแรกอยากเป็นทหาร และอาชีพสื่อมวลชนเป็นอันดับถัดมา”

คุณแจ๊ส (ปุญชนิกา ช่วยนุกิจ) ผู้หญิงเก่งของเราฉบับนี้เล่าให้ฟังถึงความฝัน และผันมาเป็นความจริงในแบบที่เธอเองก็ไม่คาดคิดว่าจะมาได้ไกลถึงขนาดนี้
“พ่อกับแม่ ขยันและมุมานะมาก ทำให้พวกเรามีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย มีโอกาสทางการศึกษา”

เด็กน้อยวัยประถมที่เติบโตท่ามกลางความรักความอบอุ่นจากคนรอบข้าง หันไปทางไหนมีแต่คนคุ้นเคย มีความสุข มีความอบอุ่น เป็นเด็กเรียนดี โดดเด่น เป็นที่ยอมรับ เป็นที่รักของเพื่อน “ทุกอย่างในชีวิตมันร้อยเปอร์เซ็นต์ไปหมด” คุณแจ๊สบอกถึงชีวิตแสนสุขในวัยเยาว์

แต่เมื่อต้องพบกับการเปลี่ยนแปลง ต้องห่างพ่อห่างแม่ ห่างยายที่นอนกอดทุกคืน ต้องมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่ไม่คุ้นเคย ไม่มียายคอยโอ๋ ไม่มีพ่อคอยปลอบ อยู่เมืองใหญ่แต่กลับ แออัดยัดเยียด บ้านที่เคยมีบริเวณกว้าง ๆ เคยโหวกเหวกโวยวาย เล่นทะโมนโจรไพรกันหลังเลิกเรียน กลายเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ มีเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ชิดเรียงราย แต่ความรู้สึกกลับห่างเหิน เพราะมีคำว่า สิทธิ์ มาขวางกั้นความสัมพันธ์ของผู้คน ก้าวล่วงกันไม่ได้ เป็นชีวิตที่ตึงเครียดเมื่อเทียบกับวิถีชนบทอันแสนจะคุ้นเคยและอบอุ่น

“เพิ่งรู้จักคำว่า ไม่มีความสุข ก็ช่วงนี้แหละ ชีวิตประสบปัญหากับการเปลี่ยนแปลงมากมาย เหงา คิดถึงบ้าน แต่ถูกฝังหัวกับคำว่า ลูกทหารต้องอดทน ร้องไห้ให้ใครเห็นไม่ได้ เดินหน้าแล้วถอยหลังไม่ได้”

ถึงปัญหาจะหนักแค่ไหน แต่เมื่อเริ่มก้าวมาแล้ว ชีวิตก็ต้องเดินต่อไป โดยมี พ่อ คอยเป็นกำลังใจให้เสมอ ไม่ว่าจะเปิดประเด็นด้วยความดราม่าอย่างไร พ่อจะยินดีรับฟัง ปล่อยให้ออดอ้อน และคอยปลอบโยน ซึ่งสุดท้ายแล้วท่านก็มีทางออกที่เหมาะสมให้อยู่เสมอ

“พ่อสอนว่า มนุษย์ทุกคนต้องมีหน้าที่ ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด พ่อจะยกตัวอย่างว่า แม่ทำหน้าที่ช่วยพ่อหาเงินดูแลลูก ๆ บางครั้งอากาศร้อน บางครั้งฝนตก แต่แม่ก็ต้องฝ่าแดด ฝ่าฝน ไปทำหน้าที่ แม่ต้องเดินไปหาซื้อมะพร้าวตามสวนของชาวบ้าน เหน็ดเหนื่อยก็ต้องอดทน เพราะมีอนาคตของลูก ๆ ต้องรับผิดขอบ ลูกก็มีหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงชีพ และรับผิดชอบประเทศชาติในอนาคต”

“นั่นทำให้ตระหนักว่า เวลาสำหรับความอ่อนแอของเราไม่มีอีกแล้ว เรามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบตามบทบาทของเรารออยู่”

คุณแจ๊สเข้าเรียนมัธยมที่สามเสนวิทยาลัย แม้ปรับตัวได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถรักษาเขี้ยวเล็บของเราไว้ได้ ผลการเรียนปานกลาง ไม่ต่ำต้อย แต่ไม่โดดเด่น
“เราค่อนข้างโชคร้าย เกิดในยุคที่ระบบการศึกษาไทย ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจหัวอกของเด็กไฮเปอร์ ดังนั้นห้องเรียนที่ไร้กิจกรรม จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของเราเสมอ”

“สามเสนวิทยาลัย นอกจากเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้เพื่อเป็นพื้นฐานใน ในชั้นอุดมศึกษาแล้ว ที่นี่ ยังเป็นพื้นที่จำลองสังคม ที่เราจะไปใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างมีความเข้าใจและมีความสุข เพราะฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก มีความเชื่อมั่นในตนเอง ยอมรับผู้อื่น กล้าหาญ ทระนง เป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันฉันท์เพื่อน ฉันท์พี่ ฉันท์น้อง อย่างเคารพและเท่าเทียมกัน”

หลังจากสำเร็จการศึกษา มีหน้าที่การงานที่มั่นคงแล้ว คุณแจ๊สก็กลับมาทดแทนคุณสถานศึกษา โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหารสมาคมนักเรียนเก่าสามเสนวิทยาลัยถึง 5 สมัยติดต่อกัน และได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากสถาบันแห่งนี้อีกด้วย

การปรับตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับชีวิตของคุณแจ๊สแทบทุกย่างก้าว จากเด็กมัธยมที่วิถีจะออกแนวห้าว ๆ ก๋ากั่น หัวโจก โผงผาง กล้าหาญ มั่นใจ เข้าสู่ชีวิตในขอบรั้ววังของ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ที่เน้นขนบจารีต ความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน กริยามารยาท ต้องงดงามตามแบบฉบับสาวไทยผู้อ่อนช้อย รวมถึงวิชาชีพครู

แม้ว่าไม่ใช่ทางของคุณแจ๊ส แต่เป็นเธอคนที่ทำอะไรแล้วจะทำเต็มที่ ทำอย่างมีความสุข และสนุกกับสิ่งนั้น ๆ จนทำให้มีผลการเรียนโดดเด่น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว แม้จะไม่ได้ประกอบวิชาชีพตามที่เรียนมา แต่เธอก็เห็นคุณค่าของวิชาชีพครู เพราะเชื่อว่าวิชาชีพครู “มีสรรพคุณ เปรียบดั่งยาครอบจักรวาล รักษาให้หายได้ทุกโรค” นำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้แทบทุกสาขา สวนสุนันทา จึงเป็นสถานที่ขัดเกลาความแข็งกล้า ให้กลายเป็นคนที่นุ่มนวลขึ้น

“มีโอกาสกลับไปร่วมทำกิจกรรมกับรุ่นน้องอยู่บ่อยครั้ง เป็นการทำด้วยความสุขและภาคภูมิใจในสถาบันอันทรงเกียรติ ภายใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นสิ่งเตือนสติให้เราปฏิบัติตนอย่างผู้มีเกียรติ มีคุณงามความดี และรู้สึกภาคภูมิใจต่อรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากสถาบันแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง”

หลังจากสำเร็จการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับ 2 อาชีพในฝันเลย แม้ไม่ได้เข้าสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูเหมือนเพื่อน ๆ ที่เรียนมาด้วยกัน แต่ก็ยังทำงานในแวดวงการศึกษา เป็นสายประชาสัมพันธ์ โดยปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ และ วิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับงานประชาสัมพันธ์ คุณแจ๊สก็ทราบข่าวว่า ครม. มีมติ อนุญาตให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อเสรี ปราศจากการครอบงำจากอำนาจรัฐ กำลังริเริ่มขึ้นแล้ว ความฝันต่ออาชีพสื่อมวลชนของเธอจึงกลับมาทันที และไอทีวีก็ให้โอกาสกับการเริ่มต้นอาชีพสื่อมวลชนแก่คุณแจ๊สในช่วงเวลานั้น

“ต้นทุนของการก่อตั้งไอทีวีไม่ได้มีมากมายนัก ประกอบกับชื่อเสียงก็ยังไม่มีเป็นทุนเดิม ลูกค้าก็ไม่มีในมือ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ ทุกคนต้องแข็งแกร่ง ทำงานเข้มแข็ง รวดเร็ว ต้องขยันเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตงานที่เป็นคุณภาพ พร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อสร้างตัวตนร่วมกัน แม้กระทั่งเงินเดือนที่ต้องลดลงในบางช่วงเวลาพวกเราก็ยอมเสียสละได้ เพื่อให้องค์กรเราเดินต่อไปได้และรอการเติบโตในอนาคต”

องค์ประกอบเหล่านี้ ล้วนหล่อหลอมให้คนไอทีวี มีบุคลิกแห่งความกล้าหาญทระนง รักความยุติธรรม เป็นนักต่อสู้ ไอทีวี จึงเป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับ และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ภายในเวลาไม่นานนัก

ภารกิจของคุณแจ๊สนั้น นอกจากรับผิดชอบรายการข่าวเช้าไอทีวี ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ – วันศุกร์แล้ว ยังต้องรับผิดชอบงานภาคสนาม รายงานสดตามสถานการณ์ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ประท้วง ม็อบต่าง ๆ หมอก ลูกเห็บ พายุทุกฤดูกาล ฯลฯ ซึ่งจะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้

“ใครทุกข์ ใครสุข ตรงไหน ต้องไปนำมาบอกเล่าให้ผู้ชมรับรู้ งานเทศกาลต่าง ๆ ปีใหม่ สงกรานต์ ไม่เคยได้หยุดพัก ที่นับว่าเป็นบุญวาสนามากก็คือ มีโอกาสได้ถวายงาน พระบรมวงศ์ พระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งการประทานสัมภาษณ์ในวาระสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มการถ่ายทอดสดมวยไทยของไอทีวี เป็นผู้ดูแลผู้เข้าประกวดนางสาวไทยในช่วงที่ไอทีวีเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน”

“ชีวิตของเรามันนักสู้จริง ๆ กำลังจะได้สุขสบายกับองค์กรที่ประสบความสำเร็จ กำลังสวยงาม กำลังภาคภูมิใจ กำลังจะได้เก็บดอกออกผล วันที่ทุกคนร้องไห้เพราะองค์กรก็ถูกยุบ แต่เราร้องไห้ไม่ได้ เพราะยังมีหน้าที่เป็นประหนึ่งเลขาทีมที่มีพี่ ๆ ผู้บริหารเป็นแกนนำในการหาทางออก หาข้อต่อรองให้กับพนักงาน เราเป็นหนึ่งในสามตัวแทนพนักงานที่ไปจดทะเบียนสหภาพพนักงานไอทีวี โดยร่วมกับ คุณจตุรงค์ สุขเอียด และ คุณปัญญา นานกระโทก”

การก้าวสู่สื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ของคุณแจ๊ส เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เริ่มต้นโดยมองไม่เห็นจุดหมายอะไร แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่เกี่ยงงาน ไม่กลัวอุปสรรค

“เหลืออีก 3 วันจะออกอากาศ เรายังไม่ได้รับมอบหมายให้ทำอะไรเลย ในที่สุด มีพี่ที่เคยผู้บังคับบัญชาตอนมาเริ่มงานที่ไอทีวีใหม่ ๆ มาขอความร่วมมือให้ช่วยผลิตรายการศิลปะเพื่อนำมาออกอากาศก่อนข่าวค่ำทุกวันแต่ หาคนทำไม่ได้”

ในที่สุดคนข่าวอย่างคุณแจ๊สก็อาสาทำรายการศิลปะ โดยมีผู้สื่อข่าวที่ไม่ได้ทำข่าวบันเทิง แต่มีความสนใจ และเป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปินเป็นกำลังสำคัญ จึงเป็นที่มาของรายการสอนศิลป์ ออกอากาศตั้งแต่วันแรกจวบจนทุกวันนี้

ปัจจุบันคุณแจ๊ส ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าโปรดิวเซอร์ สำนักรายการ รับผิดชอบผลิตรายการ รู้เท่ารู้ทัน ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 7.00 – 7.30 น. และรายการ นารีกระจ่าง ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.05 -10.00 น.

“ไทยพีบีเอส มีความต่างจากสื่อพาณิชย์ ตรงที่เรามีอิสระในการนำเสนอโดยปราศจากการครอบงำจากหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มทุนต่าง ๆ ดังนั้นจึงสามารถนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่มีความเป็นธรรม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ตามข้อเท็จจริง โดยไม่หวั่นกลัวต่ออำนาจใด ๆ เป็นสถานีที่มีประชาชนเป็นเจ้าของโดยแท้จริง เปิดพื้นที่และโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและนโยบายต่าง ๆ ผ่านสภาผู้ชม เรามีภารกิจที่ทำเพื่อประชาชนทุกภาคส่วน และทุกกลุ่มที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องบทบาทหน้าที่และชาติพันธ์ ผ่านการนำเสนอทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่ ออนแอร์ คือการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านหน้าจอโทรทัศน์, ออนไลน์ คือผลิตเนื้อหารายการเพื่อนำเสนอผ่านสื่อโซเชี่ยล และ ออนกราวด์ คือจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างคนคุณภาพและสังคมคุณธรรม”

ขณะที่ทำงานอยู่ที่ไอทีวี คุณแจ๊สได้แบ่งเวลาช่วงหนึ่งไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งเหตุผลในการศึกษาต่อของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป

“การทำงานที่เติบโตมาระยะหนึ่ง จนรู้สึกว่าเริ่มมีอำนาจ เริ่มมีตัวตน เริ่มเชื่อมั่นมากเกินไป เริ่มโลกแคบ การไปศึกษาต่อน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้ได้ลดอัตตาของตัวเองลง เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม แต่อยู่ในชั้นเรียน ทุกคนคือนักศึกษาที่เท่าเทียมกัน และยังได้พบเพื่อนใหม่ที่มีแนวคิดที่แตกต่าง เป็นการเรียนรู้ผ่านสังคมใหม่ ๆ ทำให้เห็นโลกได้กว้างขึ้นในอีกหลากหลายมุมมอง”

การมีโอกาสได้เรียนรู้จากสถาบันการศึกษา การมีประสบการณ์จากการทำงาน ล้วนส่งเสริมสิ่งที่เป็นแก่นของความเป็นตัวตนของเธอ ที่ได้รับการบ่มเพาะมาจากครอบครัว

“พ่อกล่าวเสมอว่า จงเป็นคนดี แต่เป็นคนดีที่ไม่ทำประโยชน์ก็ไร้ค่า ลูกบ้านนี้ต้องเป็นคนดีที่ทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง สังคมต้องการคนดีที่ทำประโยชน์ค่ะ”