คอลัมน์ในอดีต

เรื่องของ Yardage book

เรื่องของ Yardage book

กิน กอล์ฟ ช้อป ชิพ กลับมาเจอกันเช่นเคยนะคะกับเราสองคน อมล และ คุลิ เป็นประจำที่เราสองคนจะมีอะไรที่ทั้งดี สนุก และ อร่อยมาแนะนำกัน

เนื่องจากเราสองคนนะคะได้ยินคำถามมาพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องของ Yardage book หรือ สมุดเล่มเล็กๆที่เหล่าบรรดาโปรๆทั้งหลายเค้าจะพกไว้ที่กระเป๋ากางเกงด้านหลังกัน หลายคนอยากทราบว่า สมุดเหล่านั้นคืออะไร ข้างในมีอะไรบ้าง วันนี้เราสองคนจะมาเปิดสมุดดู รวมทั้งวิธีอ่าน Yardage book ด้วยเลย

ต้องขอบอกความสำคัญของ Yardage book ก่อนเลยนะคะ ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เหมือนเป็นคัมภีร์ที่ใช้ในการต่อสู้กับสนามนั้นๆเลย

อมล เคยได้ยินมั้ย รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

โห้ว คุลิ สุดยอดเลย นี่คิดเองหรอ?

ป่าว อ่านมา ซุนวู ปราชแห่งพิชัยยุทธ เค้าว่าไว้ อย่างคุลิเนี่ยนะ จะคิดได้แบบนี้ ฮ่าๆๆ

ปัดโธ่ ก็นึกว่าวันนี้ คุลิ จัดเต็ม เอาเป็นว่า Yardage book เปรียบเสมือนแผนที่ แผนผังของสนาม เป็นมุมมองจากมุมสูง หรือ Bird eyes view ทำให้เราเห็นโดยรวมก่อนตีว่า ควรวางตัวไปทางไหน ด้านไหนของแฟร์เวย์ถึงจะปลอดภัยจากอุปสรรค รวมถึงเห็นตำแหน่งหลุมของการแข่งขันวันนั้นๆอีกด้วย

โปรทุกคนก็จะใช้ Yardage book ร่วมในการวางแผนที่จะเล่นในสนามนั้นๆนั่นเอง มาดูด้านในกันดีกว่านะคะ ว่ารายละเอียด มีอะไรบ้าง

เปิดมาหน้าแรกก่อนเลยนะคะ ก็จะเป็นเหมือนคำอธิบายว่าสัญลักษณ์ต่างๆที่อยู่ในเล่มนี้หมายถึงอะไรบ้าง หลักๆก็จะมีตัว Y หมายถึง Yellow ก็คือจุดสีเหลืองในสนามที่พ่นสีเอาไว้ R หมายถึง Red คือจุดสีแดงที่พ่นสีเอาไว้ ต่อจากตัวอักษรสองตัวนี้ก็จะเป็น สัญลักษณ์ วงกลม กากบาท สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือแล้วแต่ทางการแข่งขันจะกำหนด

ต่อมา จะเป็นตัวเลข คือระยะไปถึง “หน้ากรีน” ไม่ใช่ไปถึงธงนะคะ

ระยะที่เจอในสมุดจะเป็นระยะดิบ หมายถึง ระยะที่ไม่รวมสโลป ดังนั้นตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บต่อจากระยะ ตัวอย่างเช่น (+2)ถ้าเป็นเครื่องหมายบวกคือตีทางขึ้น จะต้องบวกจากระยะดิบไปอีก 2 หลา ถ้าเป็นเครื่องหมายลบ (-5) คือตีทางลงหรือลงเขา ควรต้องลบ 5 หลา เป็นต้น

นอกจากนั้นก็มีสัญลักษณ์อื่นๆอีกเช่น สปริงเกอร์ ตะแกรง ท่อน้ำ ซึ่งบางทีทางผู้จัดการแข่งขันก็จะใช้จุดที่มีอยู่ในสนามอยู่แล้วเป็นจุดบอกระยะค่ะ

เอาละค่ะ มาดูหน้าตาด้านในกัน อย่างที่บอกไปตอนต้นคือเป็นมุมมองแบบมุมสูง มีสัญลักษณ์ มีตัวเลขบอกระยะ มีตำแหน่งของต้นไม้ที่อยู่บริเวณหลุม มีอุปกสรรคทั้งหมด ทั้งน้ำและบ่อทราย และที่สำคัญตรงบริเวณกรีนจะมี ความกว้าง ความลึกของกรีน สโลปและเนินต่างๆ ซึ่งก็จะทำให้นักกอล์ฟสามารถทราบรูปแบบ ลักษณะของกรีนเพื่อวางแผนในการตีขึ้นไปออน รวมทั้งช่วยในการอ่านไลน์บนกรีนอีกด้วยเพราะเราจะทราบว่าฝั่งไหนของกรีน สูงกว่าหรือต่ำกว่า
เพราะบางทีเรายืนอยู่บนกรีนอาจจะมองไม่ออก อาจจะมีมึนบ้างอะไรบ้าง ก็ได้เจ้าเล่มนี้เป็นตัวช่วยละค้า

อย่างที่บอกว่าระยะที่เห็นในสมุดคือ ระยะถึงแค่หน้ากรีนเท่านั้น เพราะจะมีกระดาษอีกใบที่เรียกว่า Pin Sheet จะแจกในแต่ละวันอีกที เพื่อบอกตำแหน่งธงประจำวัน แต่Yardage book จะใช้ตลอดการแข่งขันค่ะ

มาดูหน้าตาเจ้า Pin Sheet กันหน่อยดีกว่า

ในPin Sheet นี้ก็จะประกอบไปด้วย Hole ก็คือหลุม Front คือ ระยะวัดจากหน้ากรีนไปถึงตำแหน่งที่ธงปักอยู่ Side คือวัดระยะจากด้านข้างของกรีนเข้าไปหาตำแหน่งที่ธงปักอยู่ โดย R ย่อมาจาก Right คือวัดจากทางด้านขวาเข้ามา ส่วน L ย่อมาจาก Left คือวัดจากทางด้านซ้ายของกรีนเข้ามาหาตำแหน่งธงค่ะ

ทีนี้เรานำ Pin Sheet มาใช้ประกอบกับ Yardage book ก็จะสามารถทราบตำแหน่งธงที่แน่นอนได้แบบเป๊ะๆ เราก็จะกล้าตีเข้าหาธงได้เต็มที่ แบบที่เราเห็นในทีวีนั่นละค้า

หวังว่าจะได้ความรู้จากเราสองหรืออย่างน้อยช่วยคลายข้อสงสัยของหลายๆคนได้นะคะ

ฝากติดตาม กิน กอล์ฟ ช้อป ชิพ กับเราสองคน อมล และ คุลิได้ในฉบับหน้านะคะ ขอแอบบอกก่อนว่าห้ามพลาดเพราะว่าเราจะพาไปกินของอร่อยแบบ 24 ชั่วโมง นึกอยากกินตอนไหนก็ไปได้เลย

โอ้ววว มีด้วยหรอเนี่ย อมล อยากไปแล้วอ่ะ พาไปตอนนี้เลยได้มั้ย

ไม่ได้ต้องรอฉบับหน้าก่อน แต่รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

โอเค ก็ได้ เพื่อของอร่อยต้องอดทน วันนี้เราสองคนลาไปก่อนนะค้า แล้วพบกันใหม่

สวัสดีค้า บ๊ายบายยยยย ~