Just Say Know

ฤดูร้อน นอกจากระวังร้อนแล้ว ต้องระวังพายุด้วย

พอถึงช่วงนี้ของทุกปี กรมอุตุนิยมวิทยาก็จะออกมาเตือนให้ระมัดระวัง พายุฤดูร้อน กันเป็นประจำ เพราะพายุฤดูร้อนไม่ใช่ฝนธรรมดาที่จะมาช่วยคลายร้อน แต่มาทั้ง ฝนถล่ม-ลมแรง-ลูกเห็บตก รวมถึงฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ด้วย สร้างความเสียหายมมากมายเป็นประจำทุกปี

พายุฤดูร้อน หรือ พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorms) พายุนี้เป็นพายุประจำถิ่น ที่มักเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงการเปลี่ยนจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูร้อน หรือในราวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน รวมถึงในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝนด้วย

ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว แผ่นดินได้รับรังสีดวงอาทิตย์มากกว่าในช่วงอื่นๆ ของปี ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงและมีความชื้นสูง กระแสลมหลักในช่วงนี้ พัดเข้ามาจากจากทางตอนใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้ คือจากทางด้านอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นลมเป็นอากาศร้อนและชื้นเพราะพัดผ่านทะเลมา หากเมื่อใดก็ตามที่ความกดอากาศสูงแผ่ลงมาเป็นครั้งคราว ทำให้เกิดลมฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นลมที่แห้งและเย็นพัดผ่านพื้นทวีปมาจากประเทศจีน มาปะทะกัน ทำให้เกิดแนวอากาศไม่ทรงตัว หรือภาษาอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า “อเสถียรภาพ” (Instability line) ซึ่งมวลอากาศที่ อเสถียรภาพ จะมีการแลกเปลี่ยนมวลกันในแนวดิ่ง เกิดการยกตัวของมวลอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ในบางครั้งทำให้เกิดลูกเห็บตกด้วย

การหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็วของพายุฤดูร้อนนั้น เป็นสาเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ลมพายุพัดอย่างแรง โดยมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเกิดขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย บางโอกาสจะมีลมพัดแรงเป็นเวลา 10-15 นาทีหรืออาจจะนานกว่านั้นก็ได้ และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว โดยอาจมีกำลังแรงถึง 40 นอตหรือราว 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่มั่นคงแข็งแรงได้ แต่ก็ยังดีที่พายุฤดูร้อนนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ประมาณ 30 นาทีไปจนถึงประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อฝนหยุดตกท้องฟ้าเปิดแล้วอากาศจะเย็นลง นอกจากนั้นยังเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่กว้างนัก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20-30 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

นอกจากจะคอยฟังประกาศเตือนจากทางกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว วิธีสังเกตุสัญญาณที่จะบ่งบอกว่าพายุฤดูร้อนกำลังจะเกิดขึ้นคราวๆ ก็คือ หากมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน มีความชื้นในอากาศสูงจนรู้สึกเหนียวตัว ลมค่อนข้างสงบ ท้องฟ้าขมุกขมัว และมีเมฆมาก เมฆสูงและมีสีเทาเข้ม ต่อมามีลมพัดแรงขึ้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก่อนที่เมฆจะก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว นั่นก็จะกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองตามมา ให้เราต้องระมัดระวังตัว ซึ่งพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อนในบ้านเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ใกล้ประเทศจีนมากกว่าภาคอื่นๆ มักมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แผ่ลงมาปะทะกับมวลของอากาศร้อน ขณะที่ภาคกลางและภาคตะวันออก มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้น้อยกว่า เช่นเดียวกับภาคใต้ที่สามารถเกิดพายุฤดูร้อนได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก

หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดพายุฤดูร้อน ในช่วงนี้ก็ควรเตรียมการรับมือและป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของอาคาร บ้านเรือนให้เรียบร้อย โดยเฉพาะ หลังคา และโครงสร้างที่ควบกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสาอากาศ จานดาวเทียม ป้ายร้านค้า โฆษณาต่างๆ รวมถึงต้นไม้โดยรอบ ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น ยิ่งถ้ามีสายไฟเกี่ยวกิ่งไม้ หรือป้ายต่างๆ ที่อยู่ในสภาพน่ากังวล ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการให้เรียบร้อย เก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักเบาสามารถปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ป้องกันสิ่งของถูกพายุพัดเสียหาย หรืออาจจะได้รับอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดเข้ากระแทกได้ ที่สำคัญคอยติดตามพยากรณ์อากาศอยู่เสมอ

ซึ่งล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้ออกประกาศเตือน ในช่วงวันที่ 15-17 มีนาคม 2562 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่าบางพื้นที่ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 18-19 มีนาคม 2562 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพื้นที่เกิดพายุฤดูร้อนเพิ่มมากขึ้น และครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากจะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน โดยเริ่มจาก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

หากต้องตกอยู่ในบริเวณที่เกิดพายุแบบไม่ทันตั้งตัว ก็ตั้งสติให้ดีๆ หาที่หลบในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ไม่ควรอยู่ใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงทั้งหลายรวมถึงต้นไม้ใหญ่ งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หลีกเลี่ยงวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า เรื่องลม เรื่องฟ้า เรื่องฝน เอาแน่เอานอนไม่ได้ นอกจากมีสติแล้วต้องไม่ประมาทด้วย